โครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ข่าว TEDET

โครงการ TEDET จัดอบรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา
(STEM Education) จากประเทศเกาหลีใต้
ณ โรงเรียนเซนต์โยเซฟ บางนา จังหวัดสมุทรปราการ

          เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2563 โครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (TEDET) ภายใต้การดูแลจากศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education: SEAMEO STEM-ED) ได้จัดอบรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) จากประเทศเกาหลีใต้ ให้กับครูโรงเรียนเซนต์โยเซฟ บางนา จำนวน 37 คน ณ โรงเรียนเซนต์โยเซฟ บางนา จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้คุณครูนำทักษะที่ได้จากการอบรมไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียน การสอนในโรงเรียน ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นวิทยากร



รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
วิทยากร


          การเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนทั้งสี่สาขาเข้าด้วยกัน คือ วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เข้าด้วยกัน โดยวิทยากรจะเริ่มจากการตั้งคำถามจากสิ่งใกล้ตัวเพื่อให้เกิดการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน จากนั้นจะสรุปประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ แล้วเสริมด้วยการคิดเชิงสร้างสรรค์หรือแนวคิดเชิงบูรณาการ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่แห่งอนาคต

          ตัวอย่างเช่น การสร้างเครื่องมือวัดอุณหภูมิ เราอาจต้องศึกษาว่ายุคแรก ๆ เขาวัดอุณหภูมิกันอย่างไร มีเทอร์โมมอเตอร์น้ำ แก๊ส แอลกอฮอล์ ปรอท โดยสารเหล่านี้จะมีปริมาตรเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิ แต่แก๊สนอกจากจะเปลี่ยนตามอุณหภูมิแล้วยังเปลี่ยนแปลงตามความดันอีกด้วย ดังนั้นอาจทำให้การวัดผิดพลาดไปเมื่อวัดในบริเวณที่ความดันต่างกัน การเลือก
ใช้สารแต่ละชนิดจะต้องพิจารณาจุดหลอมเหลวและจุดเดือดของสารนั้น เพราะจะเป็นช่วงของการวัดที่จะนำสารนั้นมาใช้งานได้ นอกจากจะใช้คุณสมบัติของสารที่เปลี่ยนตามอุณหภูมิแล้ว
ยังพิจารณาอีกประเด็นหนึ่งคือ เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไป สารนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร เช่น ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา หลักการนี้นำมาสร้างเครื่องมือวัดอุณหภูมิได้เช่นกัน เมื่อมีความรู้
พื้นฐานแล้วจากนั้นลองเชื่อมโยงความรู้ เช่น เชื่อมโยงกับความรู้ด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องชั่งดิจิทัลที่อาศัยหลักการที่สารเมื่อมีแรงมากดจะทำให้ความต้านทานเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อความด้านทานเปลี่ยนไปจะทำให้กระแสไฟฟ้าเปลี่ยนไป ดังนั้นการวัดกระแสไฟฟ้าแล้วประมวลเป็นอุณหภูมิจะเป็นการวัดโดยอ้อมที่ใช้วัดอุณหภูมิได้เช่นกัน จากนั้นเมื่อเชื่อมโยงความรู้
สรุปความรู้ออกมาแล้ว ก็ให้ออกแบบสร้างเทอร์มอมิเตอร์ตามแนวคิดที่ต้องการให้มีในอนาคต

 



บรรยากาศการอบรม





สิ่งที่คุณครูได้รับจากการอบรม



ครูธีรพัฒน์ จันทะคุณ

“ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดด้านสะเต็มศึกษาที่ถูกต้องและลึกซึ้ง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนได้จริง”



ครูไซเน่ บอดี้ เฮ็ม

“ได้ฝึกตั้งคำถามแบบสะเต็มศึกษา โดยการเน้นการตั้งคำถามให้นักเรียนรู้วิธีคิดมากขึ้น ได้รู้ขั้นตอนกระบวนการสอนในห้องเรียนที่แตกต่างจากรูปแบบเดิม
ได้รับความรู้มากขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ในห้องเรียนได้จริง”